Tuesday, May 10, 2011

ดันกม.ขยายสิทธิ์แม่ลาคลอด180วัน | ไทยโพสต์

ดันกม.ขยายสิทธิ์แม่ลาคลอด180วัน | ไทยโพสต์

สช..เตรียมผลักดันกฎหมายขยายสิทธิการคลอดของแม่เป็น 180 วัน พ่อลาได้ 2สัปดาห์ เพื่อส่งเสริมให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง พร้อมกับเร่งออก กม.การตลาดอาหารทารกและขนมเด็กเล็ก ให้เสร็จในปี 2555 เน้นสีสัญญาณประเภทอาหารและติดคำเตือนต่อสุขภาพ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น “สงครามการตลาดนมทารกและขนมกรุบกรอบทำเด็กไทยอ้วน?” เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในเด็กเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบในอนาคตไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของผู้บริโภคที่เสี่ยงต่อการเป็น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไต รวมถึงส่งผลกระทบต่องบประมาณทางด้านสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มขึ้นเพื่อดูแล เรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2552 เรื่องการแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักหรือโรคอ้วนได้ยกร่างแผนยุทธศาสตร์เสนอเข้า ครม. เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำแผน โดยมี นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธาราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ และต้องดำเนินการเรื่องมาตรฐานการให้สีสัญญาณในอาหารและขนมเด็กพร้อมคำเตือน ในอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาล หรือโซเดียม มาตรการทางภาษีและราคาของอาหารควบคู่กันไปด้วย
เลขาธิการ สช.กล่าวต่อว่า สำหรับการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก สมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้มอบหมายให้ สธ. เอาจริงเอาจังกับการควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็ก และเร่งให้ออกกฎหมายว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเป็นการเฉพาะให้แล้ว เสร็จในปี 2555 รวมทั้งเสนอให้กระทรวงแรงงานและกรมบัญชีกลางร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย เกี่ยวกับการขยายสิทธิการคลอดที่มีอยู่ออกไปเป็น 180 วัน โดยได้ค่าจ้างเช่นเดิมด้วย
ด้าน พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช เลขานุการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ว่า ตามหลักการของสากลจะห้ามโฆษณาหรือทำการตลาดนมผงเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 2 ขวบ แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายหรือข้อบังคับโดยตรงจึงให้ทำตามหลักเกณฑ์ ของ สธ. ห้ามไม่ให้โฆษณาและทำการตลาดนมเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบเท่านั้น ขณะที่บริษัทผู้จำหน่ายนมผงได้พัฒนารูปแบบการตลาดโดยการแจกตัวอย่างนมผงตาม โรงพยาบาลต่างๆ หรือแจกยังเทศบาลที่แม่เด็กสามารถแจ้งเกิดได้ หรือแจกที่สำนักงานประกันสุขภาพ ชุมชน และสถานประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานซึ่งจะมีหญิงตั้งครรภ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเราไม่อนุญาตให้ทำการตลาดโดยติดต่อโดยตรงกับแม่และหญิงตั้งครรภ์ ไม่ว่าทางตรงและทางอ้อม
ขณะที่นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า จากสถิติที่สำรวจพบว่า อัตราการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือนของไทย ที่เคยน้อยที่สุดในเอเชีย แต่เริ่มดีขึ้นภายหลังมีรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น ตนขอเสนอผลักดันให้ออกกฎหมายให้แม่สามารถลาคลอดได้นานกว่า 3 เดือน รวมถึงกฎหมายที่อนุญาตให้สามีลาคลอดตามภรรยาได้ ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ผ่าน ครม.เรียบร้อยแล้ว
ส่วนขนมกรุบกรอบ ของเด็กอยากให้เร่งดำเนินการจัดทำบาร์โค้ดแบบสัญญาณไฟจราจร แต่อาจจะทำได้ยาก เพราะผู้ประกอบการจะไม่ยินยอม รวมถึงหามาตรการทำให้อาหาร นม และขนมมีคุณค่าทางอาหาร เช่น นมสำหรับเด็กต้องเป็นนมจืด และป้องกันไม่ให้ใช้อาหารสำเร็จรูปสำหรับทารก โดยอาจจะต้องอบรมให้ความรู้แก่แม่ และอบรมพี่เลี้ยงในศูนย์เลี้ยงเด็กด้วย
ทั้งนี้ จากสถิติการทานขนมกรุบกรอบพบว่า เด็กทานอาหารประเภทนี้ประมาณปีละ 49.6% ในจำนวนนี้นักโภชนาการให้การยอมรับว่าเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพียง 18 ถุง จาก 100 ถุงเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่าภายในระยะเวลา 3 ปี เด็ก เยาวชน กินขนมกรุบกรอบเพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าคิดเป็นมูลค่าปีละ 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธาราดล รองปลัด สธ. ได้กล่าวถึงกรณีการออกกฎหมายการลาคลอดเพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วอยากให้แม่สามารถลาคลอดได้มากกว่า 3 เดือน เพื่อมีเวลาดูแลและให้นมบุตร แต่อาจเป็นไปได้ยากจนกว่าจะมีการยกระดับไปอีกระดับหนึ่งเหมือนในประเทศที่ พัฒนาแล้วบางประเทศ โดยยังได้รับเงินเดือนเต็มอัตรา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน.

จาก   http://www.thaipost.net/news/310311/36440